โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

โกงกันทำไม ทำไมบางคนถึงกล้าโกง!?!

LINE TODAY ORIGINAL

เผยแพร่ 10 ก.ย 2563 เวลา 17.00 น. • nawa.
Business photo created by yanalya - www.freepik.com
Business photo created by yanalya - www.freepik.com

 

ว่าด้วยเรื่องการโกงหรือความไม่ซื่อสัตย์ นี่ถือเป็นสิ่งที่เราได้ประสบกันมาแสนนาน และดูเหมือนจะไม่มีวันหมดไป ซึ่งเรามักจะผูกติดการโกงกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เป็นเสียส่วนมาก แต่ในความเป็นจริงแล้วการโกงมันหมายรวมถึงพฤติกรรมอื่นอีกนับไม่ถ้วน อะไรก็ตามที่ไม่เป็นไปตามกฎระเบียบ ตามครรลองที่ควรจะเป็น ก็พูดได้ว่า โกงทั้งหมด 

ลัดคิวคนอื่น, ใช้เส้นสายในการทำอะไรบางอย่างให้ลุล่วง, ดูหนังตามเว็บเถื่อน, ซื้อของละเมิดลิขสิทธิ์, ลอกการบ้านเพื่อน ฯลฯ ลองถามตัวเองดูว่า เราเองก็เคยทำพฤติกรรมโกงเหล่านี้ใช่ไหมล่ะ 

-ตลกร้ายมาก ในขณะที่กำลังเขียนบทความนี้อยู่ คนข้าง ๆ ก็คุยกับเพื่อนว่า เวลาโดนใบสั่งทีไรก็มีน้องคนนี้คอยช่วยเหลือตลอด ถึงเวลาตอบช่วยเขากลับบ้าง-เห็นไหมล่ะ การโกงอยู่รอบตัวเราจริง ๆ- 

นี่ไม่ใช่เรื่องน่ายินดีมันไม่ควรเป็นเรื่องที่เราจะคุ้นชินเลยสักนิด เพราะตราบใดที่เราหยวน ๆ กับพฤติกรรมที่ทุจริตแม้เพียงเล็กน้อย นั่นเท่ากับว่าเรายินยอมให้การโกงเกิดขึ้นแล้ว เมื่อ 1 เกิดขึ้นแล้ว 2, 3, 4, … ย่อมตามมา 

ภายใต้การโกงมีอะไรซ่อนอยู่บ้าง?

ลองมาดูว่าก่อน-ระหว่าง-หลัง คน ๆ นึงจะโกงนั้น เกิดอะไรขึ้นในความคิดหรือพฤติกรรมของเขาบ้าง 

- คนเพียงคนเดียวอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมการโกงได้มากกว่า โดยเฉพาะถ้าคน ๆ นั้นมีอำนาจอยู่ในมือ 

- สิ่งแวดล้อมรอบตัวคน ๆ นั้นมีผลต่อการโกง เช่น หากเป็นสถานที่หรือองค์กรที่ไม่เคร่งครัดเรื่องการตรวจตราความโปร่งใสก็อาจเป็นช่องโหว่ให้คนกล้าโกงได้มากขึ้น 

- บางคนพยายามหาเหตุผลมารอบรับการการทำทุจริต เสมือนให้รู้สึกผิดน้อยลง เหมือนเวลาเราเห็นข่าว “แม่ขโมยนมผงให้ลูกน้อยกิน” ถามว่าแม่โกงไหม โกงแน่นอนเพราะขโมยของของคนอื่น แต่พอคนอ่านข่าวว่าทำไปเพื่อลูก เอาสัญชาตญาณความเป็นแม่มารองรับไว้ คนบางส่วนก็อาจเห็นใจกับพฤติกรรมนี้แทน 

- หากคนโกงกระทำความผิดคนเดียว สังคมจะรู้สึกว่า ‘รับได้’ มากกว่าทำเป็นหมู่คณะ ซึ่งจริงๆ แล้วความผิดไม่มีเลเวลมากหรือน้อย แต่ผิดก็คือผิดใช่ไหมล่ะคะ 

- จิตวิทยากล่าวว่า เมล็ดพันธุ์ของการโกงจะบ่มเพาะในตัวบุคคลทีละนิด ไม่ใช่ว่านึกอยากจะโกงก็ลงมือทำเลย แต่มันต้องใช้เวลาและหลาย ๆ อย่างเป็นส่วนประกอบ เช่น ขาดความสุข คนที่ไม่มีความสุขจะมองหาอะไรมาเติมเต็มความสุข บางทีก็ใช้การโกงเป็นเครื่องมือ (ซึ่งจะนำพาความสุขจอมปลอมมาให้) 

- ควบคุมตัวเองยาก คนที่ควบคุมตัวเองไม่ค่อยได้จะขาดความยับยั้งชั่งใจง่าย กว่า เพียงแค่เสี้ยววินาทีก็สามารถก่อพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงได้ทันใด

- ความคิด ‘ใคร ๆ เขาก็ทำกัน’ เป็นพิษอย่างมาก เพราะมันบิดเบี้ยวและพยายามหาความชอบธรรมให้การทุจริตว่าเป็นเรื่องที่สังคมยอมรับได้  

- คนส่วนหนึ่งจะมองว่า ‘ไม่ใช่เรื่องของเรา’ แต่การเพิกเฉยต่อการโกงก็เหมือนการร่วมโกงไปด้วย  

- Self-serving bias คือทฤษฎีทางจิตวิทยาที่ไว้อธิบายพฤติกรรม ‘เข้าข้างตัวเอง’ หากเจอเหตุการณ์ดี ๆ ก็มโนเอาว่าเป็นเพราะตัวเองนี่แหละ แต่พอเจอเหตุการณ์ร้าย ๆ กลับโทษสิ่งรอบตัวซะงั้น ในเรื่องการโกงการทุจริตก็เหมือนกัน ฉันทำเพราะฉันจำเป็น ฉันไม่ได้เป็นคนชั่ว ระบบต่างหากที่บังคับให้ฉันร้าย ฉันไม่ผิด! 

- สิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ยังมองไม่เห็นอนาคต แต่การโกงหรือคอร์รัปชันเห็นผลลัพธ์แน่นอน การทุจริตถึงแม้จะสุ่มเสี่ยงแต่สิ่งที่ได้มามันคุ้มค่าที่จะเสี่ยง นี่คือสิ่งที่คนโกงคิด แถมยังได้รับผลอย่างไว ไม่ต้องรอนาน เป็นพวกทำงานแทบตายไม่รวยสักที โกงซะเลยง่ายกว่า

- ส่วนมากจะเริ่มทำจากคอร์รัปชันเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อน พอประสบความสำเร็จก็ยิ่งได้ใจ ทำเพิ่มไปเรื่อย ๆ อย่างหยุดยั้งไม่ได้ คือทำบ่อยจนมาไกลเกินกว่าจะเดินกลับ ซึมซับการโกงไปแล้วโดยปริยาย รู้เต็มอกว่าผิด แต่ก็คิดจะทำไปเรื่อย ๆ เสียแล้ว 

- Moral Licensing เป็นอีกทฤษฎีนึงที่ใช้อธิบายการกล้าที่จะโกงได้ดีมาก ๆ ก็คือคนโกงจะรู้สึกผิดน้อยลงเมื่อได้ทำความดีเพื่อชดเชยความผิดนั้น เช่น ฟอกเงินแล้วนำไปบริจาคให้คนด้อยโอกาส เขาจะคิดว่าสิ่งที่ทำผิดไปได้รับการหักลบด้วยความใจดีนั้นแล้ว ซึ่งจริง ๆ ไม่ถูกต้องเลยสักนิด 

ความคิดทั้งหมดเหล่านี้ไม่สามารถใช้อ้างเพื่อกระทำความผิดใด ๆ ได้เลยนะคะ แต่สิ่งที่เราต้องทำคือ "ต้องเลิกการคอร์รัป(ชัน)-ขอรับ" กันได้แล้ว ไม่ต้องโตไปไม่โกง แต่ต้องไม่โกงตั้งแต่วินาทีนี้เลยจะดีกว่าค่ะ 

.

ขอบคุณข้อมูลจาก

-www.knowledgefarm.in.th

-https://news.thaipbs.or.th

-www.u4.no

-https://tdri.or.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0